7.22.2554

15 : SWOT โอกาส และ อุปสรรค




O - Opportunities - โอกกาสความก้าวหน้า
ในหน่วยงานภาคราชการนั้น ไม่มีตำแหน่งเลขานุการผู้บริหารโดยเฉพาะ แต่ผู้บริหารอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใดก็ได้ทำหน้าที่เลขานุการของตน

อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการจะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้นั้น ต้องขวนขวายหาความรู้ หรือศึกษางานเพื่อตามให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือหน่วยราชการที่ตนสังกัด เพื่อจะได้นำมาใช้ประโยชน์ในงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร

T - Threats - อุปสรรคต่อการทำหน้าที่เลขานุการ
1. เลขาที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในหน่วยงานและองค์กร ไม่เข้าใจงานที่ทำ บ่อยครั้งที่จะทำให้เกิดปัญหา ความไม่เข้าใจกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ
   ข้อเสนอแนะ ต้องศึกษารายละเอียดของหน่วยงานอย่างลึกซึ้ง เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้บริหาร เมื่อผู้บริหารมอบหมายงานให้ต้องทำได้ทันท่วงที และต้องทราบว่าจะติดต่อกับหน่วยงานใด หรือกับผู้ใด ที่สำคัญผู้บริหารมักเปลี่ยนไปตามวาระ ดังนั้น ผู้ที่ต้องรู้เรื่องของหน่วยงานมากที่สุดคือเลขานุการ

2. การทำงานเฉพาะเท่าที่ผู้บริหารสั่ง หรือข้อมูลการทำงานส่วนใหญ่มาจากผู้บริหาร เป็นการบ่งบอกว่าเลขานุการเป็นผู้ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีการพัฒนาตนเอง  ไม่สามารถที่จะคิดหรือตัดสินใจเพื่อพัฒนาหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
   ข้อเสนอแนะ ต้องเป็นผู้ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ พัฒนาตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อหน่วยงานและตนเอง

3. ในบางสถานการณ์ที่เร่งด่วน เลขานุการที่ขาดความละเอียดรอบคอบและอดทน จะทำให้เกิดความเสียหาย และทำให้การปฏิบัติงานล่าช้า
   ข้อเสนอแนะ ต้องปรับตัวให้มีความคล่องตัว ละเอียดรอบคอบ อดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ และแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม

4. การนำความลับของผู้บริหารหรือองค์กรไปเปิดเผยต่อที่สาธารณะ ไม่ควารกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างแน่นอน
   ข้อเสนอแนะ พึงระลึกอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ที่ผู้บริหารให้ความไว้วางใจ ดังนั้นต้องรักษาความลับ และรักษาภาพลักษณ์ของผู้บริหารและองค์กรได้ดีที่สุด

5. เลขาที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ต่อผู้บริหาร ต่อองคืกร ย่อมทำให้ผู้มาติดต่อหรือประสานงานขาดความเชื่อมั่นในตัวเลขาด้วย
   ข้อเสนอแนะ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อตนเอง ต่อหน้าที่ ต่อผู้บริหารและองค์กร

6. ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการทำงาน หากขาดทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์ทำให้การทำงานเชื่องช้า และไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
   ข้อเสนอแนะ เลขาต้่องก้าวทันต่อเหตุการณ์ในด้านข่าวสาร ข้อมูล และรู้จักใช้ระบบสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำขึ้น

   จากการวิเคราะห์งานเลขานุการ จะเห็นได้ว่าการที่จะทำหน้าที่เลขานุการได้ดีนั้น สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างถ่องแท้ว่าเป็นบุคคลที่ผู้บริหารไว้วางใจให้มาช่วยแบ่งเบาภารกิจ และการที่จะแบ่งเบาภารกิจได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเองให้เป้นผู้มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น เลขานุการจึงเป็นเสมือนคู่คิดและร่วมทำงาน ร่วมรับผิดชอบในงานที่สำคัญๆ ร่วมกับผู้บริหาร เพื่อให้ได้งานที่ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการพัฒนาแก่องค์กร

7.20.2554

14 : SWOT (จุดอ่อน)




จุดอ่อน - W - Weakness

1. ไม่ทราบว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด
ถึงแม้ว่าเลขานุการ จะเป็นผู้ไกล้ชิดกับผู้บริหารมากที่สุด แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเลขานุการจะชัดเจนในสิ่งที่ผู้บริหารคาดหวัง บางครั้งอาจถูกตำหนิเนื่องจากไม่รีบทำงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะเลขานุการอาจคิดไปเองว่างานอีกชิ้นน่าจะด่วนกว่า หรือผู้บริหารอาจต้องการข้อมูลมากกว่าที่เตรียมไว้ แล้วจะทำให้ทราบได้อย่างไรว่าผู้บริหารต้องการอะไร
   การแก้ไข สิ่งที่ง่ายกว่าการ "คาดเดา" คือการ "ซักถาม" หากเลขานุการ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้บริหาร ก็ควรที่จะพูดคุยกับผู้บริหารตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน และถามคำถามกับผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

2. ไม่รู้จักตนเอง
เลขานุการบางคน หรือส่วนใหญ่คิดว่ารู้จักตัวเองดีพอ ไม่รับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง ซึ่งเป็นจุดด้อยของการทำงาน
   การแก้ไข ต้องมีการประเมินตนเอง ซึ่งจะทำให้สามารถดึงจุดเด่นและจุดด้อยในตัวมาใช้ประโยชน์ เช่น จดรายการที่ชอบ ไม่ชอบ เวลาที่ทำงานร่วมกับผู้บริหาร นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำงานที่เหมาะสม หรือสิ่งที่คิดว่าดีอยู่แล้ว ก็สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่ยังไม่พอใจก็หาหนทางเพื่อที่จะเอาชนะให้ได้ บางครั้งอาจต้องการคำแนะนำจากผู้อื่น

3. ไม่รู้จักปรับตัว
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเก่ง มีประสบการณ์มานานเพียงใด เมื่อได้เริ่มงานในองค์กรใหม่ และกับผู้บริหารคนใหม่ สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการปรับตัวให้เข้ากับผู้บริหารและองค์กร ไม่ใช่ให้ผู้บริหารมาปรับตัวเข้ากับเลขานุการ
   การแก้ไข เราต้องทราบว่าเจ้านายเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สไตล์การทำงานเป็นแบบไหน เพื่อที่จะเรียนรู้ในเรื่องของความแตกต่าง  และพยายามปรับตัวให้เข้ากับผู้บริหารให้ได้ เช่น บางที่เราอาจเป็นคนพูดน้อย เก็บตัว แต่ผู้บริหารเป็นคนเปิดเผย ชอบการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยถึงประเด็นเหล่านั้น ผู้บริหารเช่นนั้น ย่อมต้องการเลขานุการที่กล้าแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะัแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เสมอ

4. ไม่เตรียมข้อมูล
ก่อนที่จะเข้าหาผู้บริหารเพื่อที่จะซักถามในข้อที่สงสัย หรือขอความช่วยเหลือใดๆ เราต้องมั่นใจว่าเราเตรียมข้อมูลมากพอแล้ว หากผู้บริหารให้กลับไปหาข้อมูลเพิ่มอีก แสดงว่าเรายังเตรียมตัวมาไม่ดีพอ
    การแก้ไข ควรเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้พร้อม และพยายามเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากข้อมูลที่ได้วิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการแสดงให้ผู้บริหารเห็นว่าเรามีความตั้งใจ และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองแล้ว เพียงแต่ต้องการคำแนะนำเพื่อการตัดสินใจ

การที่เราทราบจุดอ่อนของเรา เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุง แก้ไขให้ถูกจุด จะทำให้เราทำงานเลขานุการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ครั้งหน้าเรามาพบกับอีกสองหัวข้อที่เหลือนะครับ

7.19.2554

13 : SWOT Analysis




SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์กร หรือหน่้วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต

SWOT เป็นตัวย่อที่มีความหมาย ดังนี้

S - Strengths - จุดแข็ง หรือ ข้อได้เปรียบ
W - Weaknesses - จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ
O - Opportunities - โอกาสที่จะดำเนินการได้
T - Threats - อุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงานขององค์กร

งานเลขานุการสามารถวิเคราะห์ ได้ดังนี้

Strengths - จุดแข็ง
1. รักงานเอกสาร
เนื่องจากส่วนใหญ่ของงานเลขานุการคือการจัดการเอกสาร หากผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ ไม่มีใจรักในงานเอกสารแล้ว การทำหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพคงเป็นไปได้ยาก

2. รักงานบริการ
ด้วยหน้าที่หลักอีกประการหนึ่ง คืองานสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริหารในทุกๆ ด้าน การรักในงานบริการจึงเป็นคุณสมบัติอีกประการที่เลขานุการทุกคคนพึงมี

3. มีมนุษยสัมพันธ์
งานเลขานุการเป็นงานที่จะต้องติดต่อประสานงานอยู่เสมอ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบด้าน จะต้องมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย โดยบางครั้งอาจจะต้องมีอารมณ์ขันบ้าง สนุกสนานบ้างตามสมควร ไม่ควรเป็นคนที่เครียดจนเกินเหตุ เพราะจะทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมยาก

4. มี EQ (Emotional Quotient) และ AQ (Adversity Quotient)
เพราะเลขานุการเป็นงานที่ต้องพบปะผู้คน จึงจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจตนเอง สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง สามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ และต้องมีความเข้าใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่ต้องมี EQ เท่านั้น เลขานุการจำเป็นต้องมี AQ คือต้องมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาและเผชิยกับภาวะวิกฤต เพราะบางครั้งในการเป็นผู้อยู่ไกล้ชิดผู้บริหารก็อาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเข้ามาให้จัดการอยู่ตลอดเวลา

5. มีบุคลิกภาพที่ดี
เลขานุการจะต้องดูแลบุคคลิกภาพตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ การแต่งกายควรต้องให้เหมาะสมดูดี ไม่มากเกินไปหรือดูโทรมจนเกินไป อีกทั้งกิริยาท่าทางและมารยาทก็ควรต้องให้เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาติดต่อ หรือผู้ที่เราไปติดต่อประสานงานด้วย ถึงแม้ว่าการแต่งกายจะไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้สำหรับผู้ทำหน้าที่เลขานุการ

คราวหน้า เราจะมาต่อเรื่องจุดอ่อนกันครับ

ขอขอบคุณ
กองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย

7.01.2554

12 : คุณภาพของเลขานุการ สร้างได้อย่างไร



เมื่อจะพูดเรื่องคุณภาพ ก็คงจะหนีไม่พ้นต้องกล่าวถึง วงจรเดมมิ่ง (Deming) นั้นคือ จะทำงานต้องเริ่มต้นที่วางแผน (Plan)  จากนั้นสู่การลงมือทำ (Do)  เมื่อทำสักระยะหนึ่งต้องตรวจสอบงานที่ทำลงไป (Check) มีส่วนใดจะต้องแก้ไขปรับปรุง แล้วก็ดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง (Act)  ทฤษฎีนี้ร่วมสมัยเสมอ 
ดังนั้น ประเด็นจะนำเสนอต่อไปนี้ จึงได้เลือกตัวอักษร S  มาแทนเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวอักษรแรกของคำว่า Secretary ผสมกับการนำ PDCA มาผนวกใช้ ดังนี้ 

 pimporntext2011
  

Self-Development การฝึกฝนพัฒนาด้วยตัวเอง การเริ่มที่ตัวเองเป็นลำดับแรก  ง่ายและใกล้ตัวที่สุด การพัฒนาตัวเองของเลขานุการยุคปัจจุบันคือ เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงาน
โดยตรง ต้องศึกษาและลงมือปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ รวมถึงใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานในหน้าที่เลขานุการ มีหลายงาน เลือกงานที่คิดว่าก่อให้เกิดปัญหาหรือได้รับข้อเสนอแนะติติงบ่อย ๆ พิจารณาว่า สาเหตุนั้นเกิดจากการไม่รู้ ไม่ศึกษา ต้องได้รับคำแนะนำ สาธิตหรือลงมือปฏิบัติเอง ต้องไปศึกษาดูงาน สำหรับผู้กำลังศึกษาอยู่ก็ต้องหมั่นฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากในห้องเรียน ภาษาที่สาม ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ เป็นหลักอยู่แล้ว ต่อไปต้องเป็นภาษาที่สาม เช่น จีน สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น 

Seminar   การเข้าร่วมประชุมอบรมสัมมนา  จากหน่วยงานต่างๆ อาจจะเลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเลขานุการโดยตรง หรือหัวข้ออื่นๆ  ซึ่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานได้  บางครั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับรู้ทัศนะของบุคคลแตกต่างกันออกไป เพราะงานในหน้าที่เลขานุการนั้นหลักการดั้งเดิมยังใช้ได้เสมอ  นอกเหนือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาและจะต้องปรับตัวให้ทัน การศึกษาหาความรู้เรื่องเทคโนโลยีสำหรับเลขานุการก็ไม่ได้ซับซ้อนหรืออยู่ในระดับ advance  ดังนั้น เมื่อเราอยู่ในสถานะ  User ไม่ใช่ Programmer  ก็ต้องเลือกโปรแกรมการสัมมนาให้ตรงกับลักษณะงาน

Selection การคัดเลือกคน มาทำงานตำแหน่งเลขานุการ คุณสมบัติเบื้องต้นที่สุด คือ การพิมพ์งาน  ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ความรักในอาชีพ  ข้อจำกัดหลายประการสำหรับอาชีพนี้ไม่ว่า จะเป็นการทำงานที่ซ้ำซาก งานเอกสาร พบปะกับผู้อื่นมากหน้าหลายตา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงส่วนประกอบภายนอกนั่นคือ บุคลิกภาพ เพราะเลขานุการจะเป็นหน้าตาของเจ้านาย สิ่งสะท้อนจากเลขานุการอาจจะพอเดาออกว่าเจ้านายจะเป็นเช่นไร เป็นต้น การคัดเลือกและสัมภาษณ์คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ ภายในวันเดียวก็ไม่เป็นบทพิสูจน์ความสามารถทั้งหมดได้ ฉะนั้น ผู้คัดเลือกหนึ่งในนั้นก็ควรจะเป็นตัวเจ้านายเอง เพราะจะเป็นผู้เลือกคนที่มาทำงานกับตน 

Social  Network  เครือข่ายในการทำงาน ทั้งเครือข่ายเลขานุการด้วยกัน เครือข่ายอาชีพอื่น
ที่เกี่ยวข้องกับงานของเจ้านาย งานขององค์กร สำหรับผู้กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษา การมีเพื่อนต่างสาขาต่างคณะต่างสถาบันฯ ก็เท่ากับเป็นอีกเครือข่ายในการทำงานในอนาคตได้ ยิ่งปัจจุบันมีเครือข่ายออนไลน์ของค่ายต่าง ๆ ให้เราสามารถเลือกใช้บริการ ในอนาคต การค้นหาข้อมูลหรือต้องการคำปรึกษาแนะนำเครือข่ายเหล่านี้ จะทำงานได้ดีกว่า search engine ทั้งหลาย

Stage  เวทีสำหรับการแสดงความสามารถ การได้รับมอบหมายจากเจ้านายหรือสำนักงาน
ให้รับผิดชอบงานต่าง ๆ แล้วในครั้งต่อไปก็ยังได้รับโอกาสเหล่านั้นอีก ทั้ง ๆ ที่มีฝ่ายอื่นให้เลือกใช้บริการ จึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความสามารถของเลขานุการท่านนั้น  ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้านายควรจะให้โอกาสกับเลขานุการมือใหม่ทั้งหลายได้ทำงาน ซึ่งในระยะแรกอาจจะต้องคอยกำกับติดตาม หลังจากนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่า ได้ฝึกบุคลากรให้กับองค์กร งานครั้งต่อไปก็จะมีผู้แบ่งเบาภาระเหล่านั้นไป สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ การที่ได้มีโอกาสจัดประชุมสัมมนา ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้แสดงถึงศักยภาพของ
ผู้เรียน การร่วมและอาสาทำงานในกิจกรรมชมรมต่างๆ ซึ่งงานเหล่านั้นจะมีงานเลขานุการแทรกอยู่เสมอ

Spirit การมีจิตวิญญาณในการทำงาน  เมื่อเข้าสู่อาชีพนี้ ความรัก ศรัทธาในอาชีพเป็นสิ่งสำคัญ การทำงานด้วยคิดว่า งานนั้นเป็นงานที่เราชอบไม่ได้ให้ใครมาบังคับกดดัน  ดั่งทฤษฎี Y ก็จะเกิดความสุขในการทำงาน ปัญหาอุปสรรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็มีผู้อาสาและช่วยกันให้ลุล่วงไปได้  

Strong  สุขภาพแข็งแรง  ความสมบูรณ์ของร่างกาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ส่งผลต่อ ความกระตือรือร้นในการทำงานและต่อบุคลิกภาพเลขานุการ  วิธีการจะได้มาของหัวข้อนี้ก็ได้แก่  การพักผ่อนเพียงพอ  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เลือกบริโภคครบตามหมู่อาหาร ประพฤติตนได้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ระบุเรื่อง หน้าตาสวยงาม ความผอม ความสูง ผิวดำคล้ำขาว เพราะเมื่อปฏิบัติได้ครบตามข้อปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น ก็จะส่งผลต่อหลายหัวข้อตามลำดับ

ขอขอบคุณ :
พิมพร  ศะริจันทร์, แนวทางอาชีพเลขานุการ